share

LTLH ทางออกของกาแฟไทย (3) Low humidity drying

Last updated: 14 Oct 2023
481 Views
LTLH ทางออกของกาแฟไทย (3)  Low humidity drying

LTLH ทางออกของกาแฟไทย (3)

Low humidity drying : เปลี่ยนจากเร่งแห้งด้วยความร้อนเป็นเร่งแห้งด้วยความชื้นต่ำและกระแสลม

การตากแห้งแนวคิดใหม่ LTLH อาศัยปัจจัยหลักๆ 2 ประการในการทำให้กาแฟแห้งลงเรื่อยๆ

1. ความชื้นอากาศที่ต่ำ

อากาศที่มีความชื้นต่ำมากๆ ก็จะมีแรงดันน้ำในอากาศต่ำ ในขณะที่เมล็ดกาแฟที่เพิ่งยกขึ้นตากจะมีแรงดันน้ำภายในเมล็ดสูง ...ความแตกต่างของแรงดันน้ำระหว่างเมล็ดกับอากาศ เราเรียกว่า Water Pressure Gradient

หากแรงดันน้ำในเมล็ดมากกว่าแรงดันน้ำในอากาศ ทิศทางการแพร่ของน้ำจะเป็นไปในทิศจากภายในเมล็ดออกสู่อากาศ

แต่ในทางกลับกัน หากอากาศมีความชื้นมากกว่าเมล็ด น้ำจากอากาศก็จะแพร่เข้าสู่เมล็ด คือทำให้เมล็ดชื้นมากกว่าเดิมได้

ประสบการณ์ชีวิตของเราทำให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยาก คือในช่วงหน้าหนาวที่อากาศแห้งมากๆ เราจะสูญเสียน้ำออกไปจากผิวกายมากตามเสียจนต้องหาครีมมาทาเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอัตราการเสียน้ำไปพร้อมๆกัน

2. กระแสลม

กระแสลมที่พัดผ่านผิวกาแฟ จะเร่งการระเหยของน้ำออกมา ซึ่งความเร็วของลมและลักษณะการไหลผ่าน(ทิศทาง) จะเป็นตัวกำหนดค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทพลังงาน และสัมประสิทธิ์การแพร่หรือการเคลื่อนตัวของน้ำออกจากเมล็ด

คอมมอนเซ้นส์ ก็คือ ลมพัดจะเร่งการระเหยได้ดีขึ้น

เพียงสามารถทำให้มีความชื้นต่ำและมีกระแสลม เราก็ตากกาแฟในบ้านแบบ LTLH ได้แล้ว

การแพร่ของน้ำออกมาจากกาแฟยังขึ้นกับอุณหภูมิของห้องที่ใช้ทำการตากอีกด้วย ซึ่งห้องที่อุ่น (25-30 C) จะสามารถตากได้มีประสิทธิภาพกว่าห้องที่เย็นจัดครับ

ผมอยากพิสูจน์แนวคิด LTLH ที่ได้รับการจุดประกายไอเดียจากอาจารย์ รศ.ดร.ศิริชัย เทพา แห่ง มจธ. (บางมด) ดังนั้นก็เลยตกลงกับทีมงานร่วมกันสร้างห้องแล็บขึ้นที่บ้านเพื่อพิสูจน์แนวคิดดังกล่าว โดยเริ่มต้นทำกันที่ช่วงเก็บเกี่ยวกาแฟล็อตแรกนี้เสียเลย

เราสร้างห้องที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ/ความชื้นโดยการดัดแปลงเครื่องปรับอากาศติดตั้งอยู่แล้วในห้องนอนชั้นล่างของบ้านให้ทำงานร่วมกับ Heater ที่ใช้ทำห้องให้อุ่นในหน้าหนาว และหัวเติมความชื้น Ultra sonic แบบที่มักจะเห็นบ่อยๆในสปาห้องนวด ทั้ง 3 อุปกรณ์นี้จะถูกสั่งการโดยกล่องชุด Controller ที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ โชคดีที่ 'น้องใหม่' Staff ทีมงานของปรีดาจบวิศวะอิเลคทรอนิคส์ เราก็เลยสามารถทำกล่องคอนโทรลนี้ขึ้นมาใช้งานได้เองภายในเวลา 2 อาทิตย์

ทีนี้...จะมีฝนหลงฤดูตกลงมาตอนไหนเราก็ไม่หวั่นแล้ว ด้วยต้นทุนกำลังความรู้และความคิดที่ลงไป (กับเงินอีกนิดหน่อย) เราจะสามารถทำ procees ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเสียผลผลิตไปให้กับความไม่แน่นอนของ Climate Change ที่อาการหนักขึ้นทุกวัน

ตอนนี้ผลการทดสอบเบื้องต้นของระบบคอนโทรลเป็นที่น่าพอใจครับ ห้องที่ปิดสนิท มีแอร์ขนาดเล็กๆ 1 ตัว (12,000 Btu) กับ Heater ราคาพันกว่าบาท และหัวพ่นหมอกตัวเล็กๆ (ไม่ถึง500บ.) ก็สามารถทำอุณหภูมิและความชื้นต่ำๆที่ต้องการได้แล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่ที่เราแล้วว่าจะทดสอบตากกาแฟกันที่ระดับความชื้นและอุณหภูมิไหน

และที่สำคัญ...เราไม่ลืมที่จะติดมิเตอร์วัดไฟเพื่อดูการใช้พลังงานซึ่งจะเป็นต้นทุนสำคัญในงานนี้ด้วย

ตอนนี้ผมเริ่มใช้งานห้องนี้มาได้สามวันแล้วครับ เดี๋ยวมาติดตามผลกัน

#LTLH #PredaRoastingHouse #CoffeeDrying #CoffeeProcessing

#ThaiSpecialtyCoffee

www.Preda-Roastinghouse.com

บทความที่เกี่ยวข้อง
มาตรฐานเทคนิคงานตาก LTLH ของปรีดา Ep.2
ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงมาตรฐานเทคนิคงานตาก LTLH ของปรีดา Ep.1 ในตอน"กลไกการตากแห้ง" ตอนนี้จะมาต่อในตอน"เทคนิคงานตาก"
The basic concept of LTLH Coffee Drying
The Basic Concept of LTLH รวบรวมความรู้พื้นฐานของการทำ LTLH Drying พร้อมภาพประกอบฉบับเข้าใจง่าย เขียนโดย Arkhom Suvannakita | ROASTMASTER, Preda Roasting House
ทำความรู้จักกระบวนการหมักและตากกาแฟแบบ LTLH Drying
Yeast x Dry Process LTLH คือ การนำยีสต์ที่คัดเลือกสายพันธุ์ (Strain) มาใช้หมักผลกาแฟทั้งผลเชอรี่ในถังหมักที่สะอาด ภายใต้อุณภูมิที่ควบคุม
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy