มีเพื่อนตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้ในกลุ่ม #LTLHทางออกของกาแฟไทย ผมเห็นว่าเป็นประเด็นที่ดี เลยลองเรียบเรียงจากประสบการณ์ของตัวเองมาแชร์นะครับ
1.คัดเชอรี่ที่สุกเกินหรือเริ่มเน่าเสียออกไปก่อนเริ่มงานหมัก-ตาก
2. ล้าง-ลอยให้จริงจังจนได้เชอรี่สะอาด
3. ถ้าต้องสีเปียกเชอรี่ ต้องล้างเครื่องสีให้สะอาดจริงๆ โดยเฉพาะส่วนที่ต้องสัมผัสกาแฟ ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่มักถูกละเลยครับ เคยเห็นบางที่เว้นการใช้งานไปนานหลายเดือน ทั้งสนิมและตะไคร่เกาะอยู่เต็มเครื่องสีเลย ถ้าไม่ทำความสะอาดให้ดีจริงๆนี่ต้องมีปัญหาการปนเปื้อนสารพัดเชื้อแน่ๆ ไม่ใช่แค่เชื้อราเท่านั้น
4. ไม่หมักนานเกินไป
5. ถ้าเจอกาแฟในถังหมักขึ้นรา ต้องคัดออกก่อนนำขึ้นตาก
6. การตากลมด้านนอกห้องจนกาแฟน้ำหนักลดลงประมาณ 30% แล้วจึงค่อยเอาเข้าห้อง LTLH จะช่วยลดภาระเครื่องลดความชื้น และลดความเสี่ยงที่จะมีการสะสมความชื้นในห้องตาก
7. ถ้าจะตากในห้อง LTLH ตั้งแต่แรกเลยก็ใช้ลมพัดให้ทั่วถึงกาแฟทุกจุดจริงๆ
8. ไม่ควรตากหนาเกิน 2 นิ้ว
9. อย่าปล่อยให้ความชื้นอากาศในห้องตากสูงเกิน 80% นานกว่า 4 วัน ถ้าเป็นอย่างนั้นแปลว่าเราอาจตากหนาเกินไป หรือใส่กาแฟในห้องตากมากเกินกำลังห้องและเครื่องจักร
10. ถ้าอากาศชื้นเกินไปควรใช้พัดลมระบายอากาศเร่งระบายความชื้นออก (ช่วงตากวันแรกๆผมใช้แต่พัดลมหมุนเวียนและพัดลมระบายเลย)
11. อุณหภูมิห้องที่ต่ำกว่า 23°C มักให้ประสิทธิภาพการทำแห้งต่ำ
12.ถ้าห้องมีค่า Rh ต่ำกว่า 75% เราน่าจะไม่เจอปัญหาราในชั้นตากครับ
13.คอยเช็คน้ำหนักกาแฟที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกวัน ถ้าไม่ลงต่อเนื่องแสดงว่ามี
ปัญหาครับ ต้องเช็คว่าอับลมไหม? เครื่องลดความชื้นทำงานไหม?
14. ถ้ามีราขึ้นที่ตะกร้าใด ให้รีบแยกตะกร้าออกไปตากนอกห้องเพื่อลดความเสี่ยงรากระจายไปทั่วห้อง
15. กลิ่นอับแบบเหม็นเปรี้ยวคล้าย เหม็นกลิ่นตัวคน เป็นสัญญาณไม่ดี รีบลดความหนาของการตากหรือแยกตะกร้าที่เป็นต้นตอของกลิ่นออกไปตากข้างนอก
16.พลิกกลับกาแฟอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เว้นแต่ช่วงที่กาแฟแห้งลงมากๆเกือบได้ที่ซึ่งไม่มีความเสี่ยงเรื่องราเพราะอากาศในห้องก็น่าจะแห้งมากอยู่แล้ว
ลองนำไปปรับใช้ที่หน้างานกันนะครับ คิดว่าคงพอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง
ผู้เขียน....อาคม สุวัณณกีฏะ