ปีที่ 14 ท่านรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นโชคร้าย?
โก๋ครบโหล (14 ) ปีที่ 14 ท่านรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นโชคร้าย?
ผมและปุ๊กเริ่มไม่สนุกกับการทำร้านกาแฟเสียแล้ว!
ต้นปี 2560..เรารู้สึกว่าคนในร้านจำนวนหนึ่งไม่มี “แรงบันดาลใจ” หรือที่เรียกว่า passion และโรคขาด passion ก็เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งสามารถลามจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ผมเริ่มเห็นบรรยากาศอยู่กันไปวันๆ ไม่รักษาระเบียบวินัย ไม่สนใจใฝ่หาความรู้ เวลาไม่พอใจเพื่อนร่วมงานคนไหนก็จะนินทาว่ากล่าว ใช้คำและอารมณ์ที่รุนแรงโต้ตอบใส่กัน …ผมต้องคอยออกกฏอย่างโน้นอย่างนี้ขึ้นมาเพื่อควบคุมให้งานยังเดินหน้าได้ แต่กฏระเบียบก็เหมือนดาบสองคม ในอีกด้านหนึ่งมันสร้างความอึดอัดคับข้องใจและความหวาดระแวงซึ่งกันและกันมากขึ้น ผมพยายามปรับความเข้าใจแต่ก็ไม่ได้ผล เขาไม่มีความสุข ผมก็ไม่มีความสุข …เรายังคงมาทำงานแต่ก็ทำกันไปเพียงเพราะว่ามันเป็นงาน เป็นแหล่งรายได้
ผมไม่เคยจริงจังกับการคอยควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างทำงานของ Staff แต่นับวันยิ่งเห็นเด็กๆ เล่นกันหนักขึ้นจนลูกค้าเดินเข้าร้านก็ไม่ค่อยจะมองเห็นกัน พอออกกฏห้ามเล่นระหว่างทำงาน ก็จะใช้วิธีแอบเล่นเวลาที่เราไม่อยู่ มีครั้งหนึ่งผมสอบสวนจนยอมรับว่าแอบเล่นระหว่างงานกันทุกคน ผมก็เลยออกใบเตือนให้ทั้งร้าน จากนั้นผมก็ไม่ค่อยกล้าทิ้งหน้าร้านไปไหนเพราะห่วงลูกค้าและคอยเฝ้าให้ลูกน้องเกรงใจ ฝ่ายลูกน้องก็อึดอัดรำคาญ รู้สึกว่าถูกคอยจับผิดตลอดเวลา
เรื่องการพัฒนาระบบงานอะไรภายในร้านนั้นไม่ต้องถามถึง…แค่ประคองขายกันไปวันๆได้ก็เก่งแล้ว
ร้านโก๋ไม่เคยเป็นอย่างนี้ …นี่ไม่ใช่ร้านโก๋ของผม! และถ้าหากมันเป็นร้านโก๋ต่อไปไม่ได้ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องอดทนทำมันต่อไป เราเลือกทำโรงคั่วอย่างเดียวก็อยู่ได้ไม่เดือดร้อน ผมคิดอย่างนั้น จะเรียกว่าอารมณ์ติสท์ขึ้นก็ได้
เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ผมรู้สึกว่าเราต้องตัดสินใจ “เลือก” ว่าจะทำร้านต่อไปหรือเลิกทำไปเลย? ระหว่าง ’ความเบื่อ’ กับ ‘ความรัก’ นั้นเลือกยากจริงๆ
ในที่สุด เรายังเลือกจะทำร้านต่อเพราะคิดว่าจะยอมแพ้ให้กับปัญหาแค่นี้ไม่ได้ ขอลองอีกสักตั้งก็แล้วกันถ้าถึงที่สุดแล้วยังไม่ดีขึ้นก็จะขอยอมแพ้โดยดี
หลังจากนั้นก็มีเหตุต่างๆให้ผมกับพนักงานหลายคนต้องแยกย้ายแยกทางจากกันไป เขาเองก็คงรู้สึกกดดันไม่น้อยที่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกำหนดที่เราสร้างให้ การถอยตัวแยกจากกันก็คงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย
มีพนักงานเก่าเหลืออยู่ 3 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นคนที่คุยกันได้และมีดีเอ็นเอโก๋อยู่อย่างเข้มข้น..เราตกลงเริ่มต้นกันใหม่ ค่อยๆหาคนมาเสริมทีมให้เต็มอัตรา ถึงจะต้องเหนื่อยขายเหนื่อยสอนงานก็ให้อดทนกันไป เราค่อยๆคัดคน ค่อยๆปลูกฝัง DNA กันใหม่ ผมรู้แล้วว่าไม่มีทางที่ใครจะสามารถเปลี่ยนตัวตนของใคร เราทำได้อย่างมากก็เพียงอ่านให้ออกว่าเขาคือน้ำหรือน้ำมัน แล้วก็ตัดสินใจรับเฉพาะคนที่เป็นน้ำเข้ามาร่วมทีม ถ้าหากรู้ว่าไม่ใช่ก็อย่าไปฝืนเพราะสุดท้ายก็จะกลายเป็นความทุกข์ยากของทุกคน
กลับมาสร้างร้านโก๋ขึ้นใหม่อีกครั้ง!
-------
ขณะที่โก๋อยู่ในระหว่างสร้างบ้านแปงเมือง ปรีดาก็อยู่ในช่วงเติบใหญ่ เราได้ทีมงานซึ่งล้วนแต่เป็นสาว Food Science ที่มาจากโรงงานไวน์ที่ปิดตัวไปอย่างเงียบๆแห่งหนึ่ง หลังจากฝึกฝนจนปรับตัวให้เข้ากับกาแฟได้สักระยะเราก็เริ่มมีโครงการท้าทายฝีมือคือ โครงการ Preda Procesor Project โดยการให้คำปรึกษาของ ‘ครูหนม’ รศ.ดร.วันเพ็ญ จิตรเจริญ
ไอเดียของเราเกิดจากการตั้งโจทย์ว่า เราสามารถจะแปรรูป (Process) กาแฟไทยทั่วไปให้เกิดคุณภาพที่สูงขึ้นทั้งด้านความสะอาด (Clean) และกลิ่นรสที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนจนถึงกับเป็นกาแฟพิเศษได้หรือไม่ เราคั่วกาแฟกันมานานแต่ไม่เคยลงไปจัดการตั้งแต่ขั้นตอนหมักหรือตากเลย ดังนั้นนี่จึงเป็นการผจญภัยสู่ดินแดนที่แปลกใหม่อีกครั้งหนึ่งของเรา ครูหนมแนะนำและกำหนดเทคนิคการหมักกาแฟขึ้นมาหลายๆแบบเพื่อทดลองดูแนวโน้มความเป็นไปได้ จากนั้นเราจึงช่วยกันคัดเลือก Process ที่จะใช้ทำการผลิตจริงขึ้นมาคือ Semi-Carboic Maceration
เราส่งทีมงานขึ้นดอยหลายครั้งเพื่อเก็บข้อมูลและซื้อกาแฟเชอร์รี่ เราสร้างโรงตากเป็นการเฉพาะขึ้นที่หน้าโรงคั่ว มีงาน Lab ทดสอบค่ากรด น้ำตาล และแอลกอฮอล์ที่ต้องทำกันหามรุ่งหามค่ำในช่วงหมักกาแฟก่อนตาก ทุกคนทุ่มเทกันจนในที่สุดก็ได้สารกาแฟ Green Bean ที่ให้กลิ่นรสที่มีสะอาดและมีเอกลักษณ์ที่ชื่อ Yindee17 ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
ผลงานคราวนี้นอกจากจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วเรายังได้ความรู้หลายอย่างที่หาไม่ได้จากตำราเล่มไหนอีกด้วยอันจะเป็นการช่วยทำให้โครงการ “รับทดสอบสารกาแฟให้เกษตรกรทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” ของเรามีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล..คือเป็นประโยชน์แก่วงการกาแฟส่วนรวมได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ
----
กลางปี 60 ผมและปุ๊กได้รับโอกาสให้ไปร่วมเป็นวิทยากรในงานอบรมสัมมนาเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟซึ่งจัดโดยอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ภารกิจที่เราได้รับก็คือการให้มุมมองเกี่ยวกับโลกกาแฟในปัจจุบันทั้งเรื่องของสภาพตลาดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตกาแฟ ตลอด 6 ชั่วโมง ผมคุยกับพี่น้องให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างกาแฟให้มี “คุณภาพ” สูง เพื่อการันตีความมั่นคงของกิจการทั้งยังสามารถเรียกลูกหลานที่พลัดหลงไปทำงานต่างเมืองให้ “กลับบ้าน” มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันได้ หลังจบการสัมมนา หลายคนเริ่มเข้าใจถึงความหมายของคำว่าคุณภาพและสามารถแยกแยะถึงกาแฟดีกาแฟเลวเป็น เมื่อเห็นภาพปัจจุบันได้ชัดขึ้น ภาพอนาคตก็พลอยแจ่มใสตามไปด้วย พี่น้องมั่นใจและมีไฟที่จะรวมตัวเพื่อพัฒนากาแฟไปพร้อมๆกันทั้งกลุ่มทั้งจังหวัด เราสองคนดีใจมากที่ได้ทำประโยชน์ในครั้งนี้
…หลังจากนั้นอีกสามเดือน แม่ฮ่องสอนก็จัดงานใหญ่เพื่อเปิดตัวกาแฟของจังหวัด โดยเชิญทั้งสื่อมวลชนและผู้ค้ากาแฟรายใหญ่ๆมาร่วมชิมกาแฟของพวกเขา ทั้ง Hillkoff, Wawee, Salotto และปรีดา มีการคั่วและชิมเพื่อประเมินคุณภาพของกาแฟโดย Q Grader ที่เชี่ยวชาญจากสถาบัน Torch พวกเขาสรุปกันว่ากาแฟแม่ฮ่องสอนมีคุณภาพที่ดีอยู่ในขั้นกาแฟพิเศษอยู่หลายตัว คนทำกาแฟดีๆเหล่านี้เองที่จะช่วยพาเพื่อนๆให้ก้าวหน้าตามกันไป ขณะชิมกาแฟผมก็คิดไปพลางว่าถ้าแต่ละโครงการผลักดันของรัฐมีคนทำงานที่มีวิสัยทัศน์และทุ่มเทเต็มตัวอย่างที่ ดร.ชาตยา และทีมงานทำให้เราเห็นในคราวนี้ กาแฟไทยน่าจะไปได้ไกลกว่าจุดที่เป็นอยู่นี้อย่างแน่นอน
แม่ฮ่องสอนโมเดลนี้น่าสนใจมาก และเราก็ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับพวกเขา!
-----
จู่ๆผมนึกถึงนิทานจีนเรื่องหนึ่งขึ้นมา…
“ มีชายชราคนหนึ่ง เขามีทั้งลูกชายที่ดีและม้าที่ดีอยู่ 1 ตัว ม้าตัวนี้สามารถทำงานได้ทุกอย่างทั้งเดินทาง ขนของ แม้กระทั่งทำนา เพื่อนบ้านของเขาต่างก็ชื่นชมที่ชายชรามีพร้อมสรรพ
อยู่มาวันหนึ่ง จู่ๆม้าที่แสนดีได้เตลิดหนีไปจากคอก เขาจึงไม่มีม้าเหลืออยู่เลย
เมื่อเพื่อนบ้านทราบข่าวก็มาหาชายชราและกล่าวว่า “ท่านนี้ช่างโชคร้ายจริงๆ อยู่ดีๆม้าก็มาหายไปเช่นนี้”
ชายชราได้ยินก็บอกว่า “ท่านรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นโชคร้าย?”
…หลังจากม้าหายไป 1 สัปดาห์ ม้าของเขาก็กลับมา มันหิวโหย ไม่ถนัดอยู่ในป่าและได้พาเพื่อนม้ามาอีกถึง 12 ตัว! แน่นอนว่าพอเพื่อนบ้านทราบข่าวก็มายินดีกับเขาพร้อมกับพูดว่า “ท่านนี้ช่างโชคดีเสียเหลือเกิน”
ชายชราก็ถามเพื่อนบ้านกลับว่า “ท่านรู้ได้อย่างไรว่านี่คือโชคดี?”
…2 เดือนต่อมา ลูกชายคนเดียวก็ถูกม้าป่าสลัดตกลงจากหลังม้าจนขาหัก เพื่อนบ้านทราบข่าวก็มาแสดงความเสียใจกับชายชรา …”ท่านช่างโชคร้ายเสียจริง” แต่ชายชราก็รำพึงถ้อยคำแบบเดิมว่า “ท่านรู้ได้อย่างไรว่านี่คือโชคร้าย?”
…ผ่านไปไม่นาน มีประกาศเกณฑ์ให้คนหนุ่มไปเป็นทหารเพื่อออกรบ ชายหนุ่มในหมู่บ้านต่างถูกเกณฑ์ไปเหลือเพียงเด็ก คนแก่ และผู้หญิง และลูกชายขาพิการของชายชรา!
ชายชรายังคงรำพึงออกมาเช่นเดิมว่า …”เราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือโชคดีหรือโชคร้าย?”
---
ผมผ่านสถานการณ์ทั้งเครียด หดหู่ สิ้นหวัง ท้าทาย ฝ่าฟัน และเปี่ยมหวังเปี่ยมสุข ภายในเวลาเพียงแค่ห้วงปี แน่นอนว่าเราไม่อยากเจอทุกข์ เราอยากพบแต่เรื่องดี เรื่องที่สมหวัง เราต้องการประสบแต่ความสำเร็จเสมอ แต่ความจริงก็คือ ชีวิตไม่มีทางไหนง่าย ตอนจบของเหตุการณ์อันสุขสันต์อาจเป็นบทเริ่มต้นของความยากลำบากอันแสนสาหัสบทใหม่ก็ได้
เมื่อมองเห็นภาพของกระแสขึ้นลงราวกับคลื่นน้ำของชีวิตคนเช่นนี้…เราจะไม่เผลอปล่อยใจให้ประมาทไม่ว่าจะวันสุขหรือวันทุกข์! เมื่อดีก็จะไม่ดีใจเกินไป เมื่อยากก็จะไม่เศร้าหดหู่จนไม่เป็นอันใช้ชีวิต
ทีมโก๋ค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้นมาอย่างช้าๆด้วยการคัดเลือก Staff อย่างระมัดระวังรอบคอบของเรา ผมใช้ดีเอ็นเอของโก๋ และการเข้าถึงคุณค่าของคำว่า “ธรรมดาเป็นพิเศษ” เป็นเกณฑ์สำคัญที่พิสูจน์ว่า เขาเป็นคนแบบเดียวกับเราหรือไม่?
ตั้ม เน็ต มิว และอิ่มเป็นแกนนำช่วยกันคิดงานแบบเน้นการวางระบบงานที่ดียิ่งขึ้น มีการปรับปรุงหลักสูตรการสอนทักษะงานให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม เด็กๆเหล่านี้ถึงกับขอเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและข้อสอบกันขึ้นมาใหม่ แรงบันดาลใจ (Passion) ในกาแฟที่เริ่มกลับมาอีกครั้งนั้น แท้ที่จริงต้องมีแรงบันดาลใจใน “ผู้คน” เป็นฐานที่สำคัญยิ่งกว่า เราสร้างโครงการพิเศษที่ชื่อว่า Mr.Bean ซึ่งกำหนดให้มีการสอนความรู้พื้นฐานของกาแฟ การรู้จักผลิตภัณฑ์ของโรงคั่วตัวเองเพื่อสามารถช่วยเหลือให้ลูกค้าเลือกเมล็ดกาแฟได้ตรงกับความต้องการ หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ บาริสต้าร้านโก๋ก็จะมีฐานะเป็นผู้ให้คำปรึกษาการดื่มกาแฟให้กับลูกค้าขึ้นอีกฐานะหนึ่ง…นี่จึงเป็นแสงแห่งความหวังของเราอีกครั้ง
ทุกคนให้ความสำคัญกับการมี “ภราดรภาพ” คือเราไม่เลือกที่รักมักที่ชังหรือแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย ไม่แก้ปัญหาต่างๆอย่างตามใจตามอารมณ์ เสียงหัวเราะและรอยยิ้มเริ่มกลับคืนสู่บ้านอีกครั้ง ทุกครั้งผมกับปุ๊กเดินเข้าร้านก็มีเสียงสวัสดีทักทายอย่างสดใสของน้องๆที่เปรียบเหมือนลูกหลานไปแล้ว คนโรงคั่วและคนร้านโก๋เดินไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกสบายใจ เมื่อเรามีความสุขลูกค้าก็คงสัมผัสถึงความสุขเช่นกัน ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่าที่ผมรู้สึกว่าลูกค้าเองก็ยิ้มแย้มกว้างขวางกว่าแต่ก่อน
ร้านโก๋กลับมาเป็นห้องรับแขกอันอบอุ่นของเมืองลำปางอีกครั้ง...ถึงแม้ไม่มีใครสามารถพูดคำว่า “ตลอดไป” ได้ แต่อย่างน้อยผมก็ดีใจที่ขณะนี้มันกำลังเป็น
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสายลมแห่งกาลเวลาจะพัดพาให้เราไปพบเจอกับอะไรต่อไปอีก เรื่องดี? หรือเรื่องร้าย? สิ่งแน่นอนสามารถกลับเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนได้ทุกเวลา ทุกคนต่างก็ปรารถนาว่าตัวเองจะประสบโชคดีมากกว่าโชคร้าย แต่อย่างไรก็ตาม ผมมีความเชื่ออยู่อย่างลึกซึ้งว่า “เหตุที่ดี ย่อมให้ผลที่ดี”
สิ่งดีที่สุดที่องค์กรหนึ่ง หรือบ้านหลังหนึ่งจะพึงสร้างขึ้นมาเป็นเสาหลักของมันนั้นก็คือ “ความรักและความเมตตา” ผมจะเล่าให้ทุกคนฟังเรื่อง “พรหมวิหาร” ที่เป็นเสมือนจิตวิญญาณของที่นี่ ความรักและปรารถนาดีต่อกันและกันนี่เองที่เป็น “เหตุดี” อันจะนำมาซึ่ง “ผลดี” ในที่สุด กาแฟร้านเราจะอร่อยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่พรหมวิหารนี้
พูดมาถึงจุดนี้ก็รู้สึกว่าตัวเองนั้นคล้ายกับเป็นชายมีอายุคนหนึ่งไปเสียแล้ว…
จากจุดเริ่มต้น…ผมฝันถึงธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ มีความสำเร็จต่างๆนานา ต่อมาเริ่มเข้าใจว่ามายาเหล่านี้เองที่บดบังหนทางในการเข้าถึงซึ่งการเป็น “ร้านกาแฟที่แท้” จึงปรับวิถีของตนให้เข้ารูปรอยได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงวันนี้กลับค้นพบอีกครั้งว่าสัจจธรรมนั้นดำรงอยู่ในทุกสิ่ง เมื่อสามารถรักษาเอกภาพเอาไว้ ชีวิตและความหวังก็จะยังคงตั้งอยู่ได้ เราพึงระมัดระวังให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลภายในตัวเองให้ดีไว้เสมอ ประมาทเมื่อใดก็อาจต้องพบกับจุดจบได้ทุกเมื่อ
จากจุดที่ยืนอยู่นี้…ผมมองเห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่เพิ่งกลับมาคิดมีชีวิตอีกครั้ง พร้อมกับภารกิจให้ร่มเงาปกป้องต้นหน่อเล็กๆของมันเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ตามวิถีธรรมดาของโลก
ไม่มีโชคดีหรือโชคร้าย...
มีแค่การดำเนินไป