ปีที่ 5 สร้างรหัสพันธุกรรม
โก๋ครบโหล (5) ปีที่ห้า สร้างรหัสพันธุกรรม
มีคนถามบ่อยๆว่าอะไรทำให้ผมยอมทนทำร้านต่อไปทั้งๆ ที่ขาดทุนอยู่หลายปี?
ตอบ : ก็เพราะผมรู้ว่ามันยังไปได้ เรายังเห็นเรื่องให้แก้ไขและปรับปรุงอีกหลายอย่าง ซึ่งทุกครั้งที่แก้ได้เรื่องหนึ่ง ผลในทางบวกก็เกิดขึ้นทันทีแม้บางครั้งจะเพียงเล็กน้อย แต่ก็มากพอจะบอกให้รู้ว่าเรามาถูกแล้ว.. ให้ทำเรื่องต่อไปนะ
ที่จริง... ผมก็ไม่รู้หรอกว่าถ้าทนทำต่อแล้วสุดท้ายจะจบสวยงามอย่างใจฝันหรือเปล่า แต่เมื่อยังไม่ถึงทางตันก็น่าเดินต่อ แรงเราก็ยังพอมี.. นี่คือหน้าที่ของนักประกอบการ หรือนักผจญภัยอย่างเรา
ผ่านมาถึงปีที่ห้า ผมเริ่มรู้สึกว่าเวลาเดินเร็วขึ้น มีงานรอให้คิดให้ทำอยู่มากมาย นับเป็นสัญญาณที่ดีของชีวิต ตอนนี้เราสองคนมีเป้าหมายร่วมกันคือ แก้ปัญหา และเดินหน้าสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต
เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง เราก็ตัดสินใจซื้อเครื่องบด และเครื่องชงกาแฟแบบ commercial ชุดแรก ด้วยงบประมาณห้าหมื่นกว่าบาท เรียกว่าเทกำไรกันจนหมดกระเป๋าเลย
คุณภาพการชงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ได้เครื่องมือที่ดีพอ
เรามีลูกค้าขาประจำมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากกาแฟ ก็เริ่มมีครัวทำอาหารง่ายๆจำพวก สปาเกตตี้ ไส้กรอก สลัด แซนด์วิช ขนมปังปิ้ง เพื่อตอบโจทย์คนทานกลางวัน การมีเมนูอาหารช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องลำบากย้ายไปร้านอื่นตอนกลางวัน พอหิวก็สั่งอาหารมาทานต่อเนื่องได้เลย เรามีสต๊าฟเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน โดยมีทั้งแบบประจำ และแบบนักเรียนพาร์ทไทม์ผสมกันอย่างละครึ่ง
เมื่อมีคนทำงานมากขึ้น เราก็จำเป็นต้องมีระบบงานเพื่อเป็นตัวช่วยกำกับให้งานเดินหน้าได้ราบรื่น ปัญหาใหญ่ของร้านกาแฟเล็กๆ ก็คือการลาออกที่มีอยู่เป็นประจำ เด็กใหม่เข้ามาก็ต้องสอนงานกันใหม่ กว่าจะเป็นงานก็หลายเดือน พอเริ่มเข้าที่ก็ลาออกไปหางานใหม่ซะแล้ว หลังจากนั้นก็หาคนเข้ามาทดแทน บางทีได้คนที่ไม่เหมาะกับงานบริการก็จะมีปัญหากับงานกับลูกค้า คนใหม่บางคนอยู่ร่วมกับคนอื่นๆได้ยาก นิสัยใจคอก็เป็นเรื่องสำคัญ ...ซึ่งนิสัยจริงๆจะเป็นอย่างไรก็มักจะเห็นกันหลังผ่านทดลองงานไปแล้วนั่นแหละ
ระบบงาน..ที่จริงยังไม่สำคัญเท่ากับ ‘ระบบคน’
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมรู้สึกว่าสต๊าฟชุดนี้ค่อนข้างจะ ‘ลงตัว’ ทั้งนิสัยใจคอ และประสิทธิภาพการทำงาน พวกเขามี character หรือ บุคลิกร่วมกันหลายอย่าง ผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้ร้านของเรายังคงคุณภาพของคนได้อย่างนี้ตลอด เด็กๆเหล่านี้สักวันเขาก็ต้องมีทางเดินของเขา แต่เราจะต้องรักษาคุณภาพคนให้ได้เหมือนเดิม หรือใกล้เคียงเดิมด้วยระบบ หรือวัฒนธรรมอะไรสักอย่าง
เราจัดประชุมสต๊าฟ ให้พวกเขาร่วมกันทำ Workshop ขึ้นชิ้นหนึ่ง โดยขอให้ต่างคนต่างก็เขียนระบุว่า “คนโก๋” ต้องเป็นอย่างไร? โดยสามารถจะเขียนมากี่ข้อก็ได้ ภายใต้กลุ่มหัวข้อหลัก 3 อย่างคือ มาตรฐานการทำงาน การอยู่ร่วมกันในทีม และ การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า แล้วจึงนำข้อเขียนของแต่ละคนมารวมกัน ส่วนใหญ่จะเขียนออกมาค่อนข้างเหมือนกัน ผมเรียบเรียงทำเป็นสรุปออกมา แล้วเรียกมันว่า โก๋ DNA
โก๋ DNA คือรหัสพันธุกรรมที่จะกำหนดให้คนในองค์กรมีค่านิยมเดียวกัน มันจะเป็นสิ่งที่ทั้งเอาไว้ใช้ประเมินรับคนเข้าทำงาน ประเมินเพิ่มเงินเดือน และเป็นเป้าหมายในการพัฒนาคนและระบบงาน ...มันอาจจะเทียบเคียงกับคำว่า KPI (Key Performance Index) ก็พอได้ เพียงแต่เราจะไม่ใช้ปริมาณตัวเลขทำนอง ยอดขาย หรือ จำนวนลูกค้า มาเป็นตัววัดประสิทธิผลของคน ..เราสนใจที่คุณสมบัติของคนและทีมเป็นหลัก ด้วยความเชื่อว่าหากคนดี คนมีวินัย คนไม่เห็นแก่ตัว จะค่อยๆพัฒนาจนเป็น คนเก่ง ขึ้นมาเอง และผลในเชิงธุรกิจก็จะเกิดตามหลังจากนั้นแน่นอน
สนใจที่เหตุ เดี๋ยวผลก็ตามมาเอง
โก๋ DNA เป็นฐานสำคัญของการสร้างทีมที่ดีและแข็งแกร่งให้กับร้านโก๋กาแฟ ทุกครั้งที่มีคนมาทดลองงาน น้องๆจะช่วยกันคัดกรอง และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคนใหม่ตามค่านิยมนี้ ทำให้เราแทบจะ 'ไม่พลาด' ในการรับคนเข้ามาเลย คนขยันเหมือนกัน คนใจดีเหมือนกัน อยู่ด้วยกัน ร้านก็น่าอยู่ ลูกค้าเดินเข้าหาเราหนาตามากขึ้น กาแฟอร่อยหรืออาหารดี ล้วนมาจากฝีมือของ “คน” เมื่อคนดี อะไรๆ ก็ไม่แย่
ถึงแม้ปีนี้เราพอมีกำไร แต่เราก็ใช้มันหมดไปกับการซื้อเครื่องมือจนแทบหมด ผมหวังว่าจะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มอีกแล้วเพราะร้านควรจะได้มีกำไรกลับมาเป็นเงินปันผลบ้างเสียที ผม ปุ๊ก และหุ้นส่วน อดทนกันมานานพอสมควรแล้ว
แต่เรื่องไม่ง่ายอย่างที่คิด ..เรายังต้องทนกันต่อไป!