share

อิทัปปัจจยตาในถ้วยกาแฟ

Last updated: 12 Oct 2023
2907 Views
อิทัปปัจจยตาในถ้วยกาแฟ

อิทัปปัจจยตาในถ้วยกาแฟ

"ท่านทั้งหลายจงมองดูให้ดีว่า ในโลกนี้บรรดาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรานั้นอะไรเป็นอะไร? คือว่า อะไรเป็นเหตุ? อะไรเป็นผล? และ อะไรเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างเหตุและผล?


... ความเกี่ยวข้องกันระหว่างเหตุกับผลนั่นแหละ คือชีวิตของคนเราทุกขณะๆ ไปทีเดียว

เมื่อ อิทัปปัจจยตา เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคนเราโดยตรงอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นเรื่องที่ควรจะสนใจ"


[อิทัปปัจจยตา, พุทธทาสภิกขุ]


อิทัปปัจจยตา คือ กฏเกณฑ์ของสรรพสิ่ง ที่มีเหตุก็ต้องมีผล และเมื่อมีผล ก็ย่อมต้องมีเหตุ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกเป็นกฏใหญ่ที่ควบคุมทุกเรื่องราวและผลักดันให้เกิดเรื่องราวเป็นกระแสของเหตุและปัจจัยที่ผลักดันกันต่อๆไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

อิทัปปัจจยตา เป็นกฏที่บังคับเกิดขึ้นกับทุกสิ่งในโลกนี้ ทั้งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่จับต้องได้ (รูปธรรม) และ จับต้องไม่ได้ (นามธรรม) ไม่เว้นกระทั่งกับ "กาแฟ"!!

ผมจะชวนพวกเรามาลองมองเรื่องราวของ "กาแฟ" ในแบบอิทัปปัจจยตากันดู
เผื่อว่ามุมมองที่เราเคยมีกับมันในฐานะเป็นเพียงเครื่องดื่มถ้วยโปรดอาจจะเปลี่ยนไป


อิติ อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ "เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้ย่อมมี"

เมื่อเรามองเห็นกาแฟแก้วหนึ่งแล้วเหลียวมองไปรอบๆร้าน จะพบเห็นสิ่งที่ต้องมาพร้อมกันเสมอ เช่น คนชง คนดื่ม เมล็ดกาแฟ เครื่องชง เครื่องบด น้ำร้อน น้ำมันกาแฟ หรือ อาจมีครีมเทียม น้ำเชื่อม นมข้นหวาน รวมอยู่ด้วย

พร้อมกันนั้น ก็อาจมีสิ่งอื่นที่เรายังมองไม่เห็นอย่างเช่น คนปลูก ผู้จัดการร้าน คนคั่ว โรงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า วิศวกรควบคุมระบบผลิตไฟฟ้า เป็นต้น


......สิ่งเหล่านี้ มีอยู่พร้อมกันกับกาแฟแก้วนั้นเสมอ

องค์ประกอบที่ผมพูดถึงมาทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนเป็นปัจจัยช่วยในการ "ปรุง" หรือ ร่วมสร้างกาแฟขึ้นมา
กาแฟหนึ่งถ้วย เป็นผลรวมของหลายสิ่งหลายอย่าง มิได้มีแต่ตัวกาแฟลอยๆ โดดๆ ขึ้นมาเอง



อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ "เพราะการเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น"


เมื่อในถ้วยมีกาแฟ ย่อมต้องมีผู้ชงมันขึ้นมา, เมื่อในถุงฟลอยมีเมล็ดกาแฟอยู่ ย่อมต้องมีผู้คั่วมันขึ้นมา, เมื่อในกระสอบมีเมล็ดดิบ ย่อมต้องมีผู้ปลูกมัน

ชีวิตผมสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลาย ซึ่งต่างก็มีส่วนสำคัญในแต่ละกระบวนการก่อนจะมาเป็นเครื่องดื่มในมือของพวกเรา เช่น
อาโด่ว (แปลว่า พี่ชาย ในภาษาอาข่า) เป็นเจ้าของไร่กาแฟที่ปลูกกาแฟมาสิบกว่าปีบนดอยช้าง

น้องผักบุ้ง บาริสต้าตัวน้อย นักศึกษาธรรมศาสตร์ ปี2 ที่ทำงานในร้านโก๋กาแฟมาตั้งแต่ยังเรียน ม.6

ผม เป็นมือคั่วกาแฟประจำโรงคั่วปรีดา และควบตำแหน่งผู้จัดการร้านโก๋กาแฟ

เจเจ เภสัชกรสาว ที่ทำงานเข้าเวรหามรุ่งหามค่ำ แต่ก็สดใสร่าเริงเสมอ ...การอยู่เวรในโรงพยาบาลลำปางของเธอ ต้องอาศัยกาแฟจากร้านโก๋มาหลายปีแล้ว

กระบวนการเกิดขึ้นของกาแฟ มีเหตุเกิดขึ้นเป็นผล และส่งเป็นเหตุต่อเนื่องไปอีกเป็นทอดๆ ชนิดที่หากกระบวนการใดขาดหายไปแล้ว ก็จะเกิดการสะดุดหยุดลงและไม่สามารถเกิดเป็นกาแฟในถ้วยข้างหน้าเราได้


ผมขอยกตัวอย่างกระแสอิทัปปัจจยตาในการเกิดขึ้นสักตัวอย่างนะครับ

ดินบนดอยช้างมีแร่ธาตุและความสูงที่เหมาะสม --> อาโด่วคิดว่าเหมาะกับการปลูกกาแฟ --> อาโด่วซื้อที่ดิน --> อาโด่วเริ่มปลูกกาแฟ --> กาแฟให้ผลผลิต --> อาโด่วหมัก ตากกาแฟ --> ผมซื้อกาแฟจากอาโด่ว --> ร้านโก๋สั่งกาแฟจากโรงคั่ว --> ผมคั่วกาแฟส่งให้ร้านโก๋ --> เจเจสั่งคาปูปั่นที่ร้านโก๋ --> ผักบุ้งตั้งใจชงสุดฝีมือ --> คาปูรสชาติดี --> เจเจดื่มแล้วพอใจ --> เจเจบอกต่อให้เพื่อน --> ร้านโก๋ได้ลูกค้าเพิ่ม --> สั่งซื้อกาแฟจากโรงคั่วเข้ามาอีก --> โรงคั่วสั่งกาแฟจากอาโด่ว --> ฯลฯ


จะเห็นได้ว่า ...การกินกาแฟของเจเจ มีผลต่อชีวิตคนหลายคนทีเดียว!!
เจเจอาจไม่ได้กินกาแฟ หากไม่มีเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้!

ในขณะที่มีการชงกาแฟจากเครื่องชงเอสเปรสโซ ก็มี อิทัปปัจยตา เช่นกัน

เจเจสั่งคาปูปั่นหนึ่งแก้ว ขอรสชาติเหมือนเดิมนะ --> ผักบุ้งจำได้ว่าพี่เจเจชอบรสชาติแบบนี้ๆ --> วางแผนการชงและปรุงกาแฟ --> บดกาแฟ และใส่กาแฟในก้านอัดและใส่เข้าไปในหัวกรุ๊ป --> กดปุ่มสั่งให้ปั๊มส่งน้ำมายังหัวชง --> น้ำที่ไหลผ่านหม้อต้มร้อนขึ้นเรื่อยๆขณะมุ่งหน้ามายังหัวชง --> น้ำมีอุณหภูมิ 90 องศาพอดีเมื่อมาพบกับผงกาแฟ --> น้ำร้อนไหลผ่านผงกาแฟ สกัดน้ำมันและกลิ่นหอมออกมาจากผงกาแฟ --> ได้น้ำกาแฟเอสเปรสโซเข้มข้นอยู่ในถ้วย --> ผักบุ้งปรุงกาแฟด้วยเครื่องปรุงต่างๆตามที่วางแผนไว้ --> คาปูรสชาติดี --> เจเจดื่มแล้วพอใจ --> ฯลฯ


หลายคนคงเคยนั่งใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงภายในร้านกาแฟ แล้วก็มีอิทัปปัจจยตาเกิดขึ้น

นั่งรอกาแฟ --> กวาดตามองไปรอบๆ --> รู้สึกว่าต้นไม้เยอะดี --> เห็นสวนแนวตั้งที่กำแพงร้าน --> อยากมีสวนแนวตั้งอย่างนี้ที่บ้านบ้าง --> ถ่ายรูปเก็บเอาไว้ก่อน --> กาแฟมาเสิร์ฟแล้ว --> จิบแล้ว รสชาติใช้ได้ ..หอมด้วย --> ค่อยๆ ดื่มเดี๋ยวหมดเร็ว --> อ่านหนังสือไปพลางๆก็ดี -->ได้ไอเดียจากหนังสือ --> จดเอาไว้ ..พรุ่งนี้จะลองเอาไปใช้ ฯลฯ

แม้แต่ความรู้สึกของคนเรา ก็ยังมีเหตุและผลต่อเนื่องกันเป็นลำดับเช่นกัน หมายความว่า
กระแสการส่งหนุนแบบ "เพราะการเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น" นั้นเกิดขึ้นทั้งกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้อย่างกระบวนการชงกาแฟ และกับสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ คืออารมณ์ ความรู้สึก ความคิด อย่างอารมณ์ชิลๆในร้าน



อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ "เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี"
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฌติ "เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมดับไป"

สองวันก่อน ที่ร้านโก๋กาแฟ ...ขณะที่เรากำลังชงขายกันอย่างมันมือ จู่ๆ ไฟฟ้าก็ดับมันซะงั้น เมื่อไฟฟ้าดับก็ไม่มีน้ำร้อน ไม่มีน้ำร้อนก็ไม่มีน้ำกาแฟ
ลูกค้าหลายคนต้องรีบไปต่อ ก็กลับออกไป บางคนไม่ไปไหนก็รอได้ ส่วนเราก็เสนอขายเครื่องดื่มตัวอื่นๆกันไปพลาง
แต่ความไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คู่กับความไม่มีกาแฟขาย
เพราะเมื่อไม่มีน้ำร้อน ก็ย่อมไม่มีน้ำกาแฟ อิทัปปัจจยตาเกิดขึ้นอีกแล้ว!

รถชนเสาไฟฟ้า -->ไฟฟ้าดับรอช่างมาแก้ไข --> ไม่มีไฟฟ้าใช้ในร้านโก๋ --> ผักบุ้งชงกาแฟไม่ได้ --> เสียลูกค้าไปหลายคน --> ลูกค้าที่นั่งโต๊ะอยู่ รู้สึกร้อนเพราะพัดลมก็ดับ --> หงุดหงิดพอควร --> ฯลฯ

เพราะความดับของไฟฟ้าแท้ๆ จึงไม่มีกาแฟขายในวันนั้น

บางครั้ง การชงกาแฟด้อยคุณภาพของร้านกาแฟ ก็อาจทำให้เกิดผลเสียส่งต่อไปไกลอย่างไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น

เมล็ดกาแฟเก่า คุณภาพไม่ดี --> ชงกาแฟออกมารสเปรี้ยวและเหม็นหืน --> ลูกค้าดื่มแล้วท้องเสีย --> หงุดหงิด ป่วย --> ทะเลาะกับเพื่อน --> เลิกคบกัน --> กลับมาเหงา เสียใจที่บ้าน --> อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง --> ทำข้อสอบไม่ได้ --> ผลการเรียนไม่ดี --> ฯลฯ



เมื่อคุยมาถึงตรงนี้แล้ว เริ่มรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ว่า

"โลกเราเป็นเหมือนกระแสน้ำ กระแสลม ที่เคลื่อนไหวไปเรื่อยไม่เคยหยุดนิ่ง"

และต่างก็เป็นเหตุเป็นผลต่อกันและกันเป็นอย่างยิ่ง หากไม่มีสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็คงไม่มีสิ่งนี้ ณ ขณะนี้ โดยที่ไม่มีอะไรเลยที่คงตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา

แม้กระทั่งกาแฟเย็นในแก้วที่ผมทานไม่หมด เมื่อทิ้งไว้นานๆ เข้า กลับมาเห็นอีกที มันก็กลายเป็นน้ำแข็งที่ละลายเจือกาแฟ ไม่น่าทานเหมือนเดิม...ซึ่งเราเรียกมันใหม่ว่า "เศษน้ำกาแฟ" แล้วก็เทลงอ่างล้างจาน กลายเป็น "น้ำเสีย น้ำทิ้ง" จนกระทั่งไหลไปรวมในแม่น้ำเป็น "น้ำในแม่น้ำ" ตราบจนเมื่อการประปาเอากลับมาใช้ขายให้เราอีกครั้ง เราก็กลับเรียกมันว่า "น้ำประปา"

ลักษณะเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไม่หยุดอยู่กับที่ (อนิจจัง) จนไม่มีตัวตนเป็นเอกเทศตายตัวเช่นนี้จึง คือ อนัตตา


เมื่อเห็นอิทัปปัจจยตาแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นเป็นจริงเป็นจังก็จะลดลงไปเอง


เห็นอิทัปปัจจยตาแล้วได้ประโยชน์อะไร?

ในโลกของธุรกิจกาแฟอาจจะมีคนขาย และ ลูกค้า ที่ดูเหมือนจะยืนอยู่คนละฝั่งกัน

คนกิน อยากได้ของดี บริการดี แต่บางครั้งสิ่งที่ได้รับก็ไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ หรือบางครั้ง การเอาแต่หมกตัวอยู่ในร้านกาแฟก็อาจทำให้ชีวิตตนแย่ลง เพราะเอาเวลาไปทิ้งมากจนเสียหน้าที่อื่น


คนขาย ก็อยากขายได้มากๆ บางคนก็ขายด้วยความรู้สึกอยากให้ลูกค้าหลงใหล ติดกาแฟมากๆ ยอดขายก็จะดี ...แต่เมื่อยิ่งอยากให้ขายดีมากๆ ก็ยิ่งเครียด ผลงานก็มักจะแย่ลง ผิดทิศทางจากหน้าที่ที่ควรเป็น

เราสามารถกินหรือขาย อย่างให้คุณหรือโทษก็ได้ตามแต่สติที่จะรู้ทันตัวเองหรือไม่

เจ้าของธุรกิจกาแฟ อาจบริหารงานอย่างสร้างสรรค์ได้ หากไม่มุ่งหวังที่ผลกำไรมากเกินไปเสียจนลืมหน้าที่ของการเป็นร้านกาแฟโดยมองให้เข้าใจว่า "เงินไม่ใช่วัตถุประสงค์ แต่เป็นเพียงสิ่งจำเป็นประการหนึ่งในการทำให้หน้าที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

ขณะที่ผมกำลังคาดหวังผลงานที่ดีที่สุดจากพนักงาน แต่เมื่อเกิดเหตุผิดพลาดขึ้น ผมอาจสร้างความผิดพลาดซ้ำสองด้วยการใช้อารมณ์โกรธเข้าจัดการปัญหา

...หากไม่มีสติรู้ทันว่ามันเป็น "อิทัปปัจจยตา" แล้วมองอย่างเข้าใจว่า ความผิดพลาดก็มีเหตุของมัน หากจะแก้ไขก็เพียงจัดการตรงไปที่เหตุเท่านั้นเอง

คนชงกาแฟ อาจชงด้วยความลำพองในฝีมือตนเอง โดยลืมตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อลูกค้า ..ก็เพราะไม่เห็น "อิทัปปัจจยตา" ว่ามันจะสร้างความเสียหายได้อย่างไร

คนกินกาแฟ อาจทำให้ชีวิตตนดีขึ้นจากการนั่งในร้านกาแฟ เพราะได้อยู่นิ่งกับตัวเองสักพักเพื่อรวบรวมกำลังใจ กำลังกาย ก่อนจะออกไปต่อสู้กับชีวิตการงานต่อไป แต่หากมาหงุดหงิด อารมณ์เสียเพราะคาดหวังบรรยากาศที่ดีเลิศในร้าน ..ก็เพราะไม่เห็น "อิทัปปัจจยตา" ว่าบางครั้งเสียงจ้อกแจ้ก จอแจที่ได้ยิน มันก็เพราะมีคนอื่นเข้ามาร่วมใช้บริการด้วยเหมือนกัน และก็มีสาเหตุร่วมอื่นๆ อีกมากมาย

สรุปกันอีกครั้งนะครับ

1. สิ่งต่างๆเกิดขึ้นโดยมีเหตุส่งต่อกันเป็นกระแส

2. ความสุขหรือทุกข์ก็เป็นกระแสอันเนื่องจากสิ่งเร้า (ผัสสะ) ความรู้สึก (เวทนา) การคิดของเรา (สังขาร) จนกระทั่งเกิดการยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน-->ตัณหา)
การคิดหรือมองเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างไม่ทำความเข้าใจ สามารถทำให้เกิดทุกข์ได้ แต่การมองสิ่งที่เห็นว่าเป็นผลของเหตุอื่นส่งกันเป็นทอดๆ มา จะทำให้เราคลายจากความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ไม่สร้างทุกข์

3. เราสามารถกินกาแฟให้เกิดประโยชน์หรือโทษก็ได้ ขึ้นกับว่ามองเห็นอิทัปปัจจยตา หรือแค่กินให้เพลิดเพลินไปอย่างนั้น

4. เราสามารถขายกาแฟด้วยจิตที่ไม่ร้อนรนจากความต้องการเงิน หากแต่ทำด้วยความตระหนักในหน้าที่ และใช้อิทัปปัจจยตาในการกำกับชีวิตทำงาน

เมื่อมีอิทัปปัจจยตา...คนกินก็ไม่เครียด คนขายก็ไม่ทุกข์

หากขณะดื่มกาแฟ แล้วมองเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนมากมาย และต้องเดินทางยาวไกลเพียงใดกว่าจะมาถึงมือเรา...นั่นก็คือการเห็น "อิทัปปัจจยตา ในถ้วยกาแฟ" แล้วครับ




หมายเหตุ : แนะนำหนังสือ "อิทัปปัจจยตา" ของพุทธทาสภิกขุ เพื่อการเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของเราทุกคนครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง
อยากเป็น หรือ เลือกเป็น?
ในช่วงแห่งการเริ่มต้น เรามักเริ่มจากความอยากเป็น
COFFIVINO (2) : ทุกเส้นชัยมีจุดเริ่มต้น
SCM คือจุดเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีก่อน
COFFIVINO (4) : Rare item
นับแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ครูหนมก็แทบไม่เหลือเวลาว่างอีกเลย
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy